จุดหลอมเหลวและจุดเดือด
อนุภาคของสารที่อยู่รวมกันจะมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างกัน การแยกอนุภาคของสารออกจากกันอาจใช้วิธีให้ความร้อนแก่สารจนมีอุณหภูมิสูงถึง จุดหลอมเหลวหรือจุดเดือด พลังงานความร้อนที่ใช้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาด (หรือความแข็งแรง) ของแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคในสารนั้น สารที่มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคมากจะมีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดสูงด้วย ตัวอย่างจุดหลอมเหลวและจุดเดือดของธาตุหมู่ IA-VIIA แสดงดังรูป
เมื่อพิจารณาธาตุตามคาบ พบว่าจุดเดือดและจุดหลอมเหลวของธาตุในหมู่ IA IIA IIIA และ IVA มีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะหมู่ IVA จะมีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดสูงที่สุด ส่วนหมู่ VA VIA VIIA และ VIIIA มีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดต่ำ การที่จุดหลอมเหลวและจุดเดือดของธาตุหมู่ IA IIA และ IIIA ที่อยู่ในคาบเดียวกันมีแนวโน้มสูงขึ้นตามเลขอะตอม อธิบายได้ว่าเมื่อเลขอะตอมเพิ่มขึ้นอะตอมจะมีจำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนมากขึ้น รวมทั้งมีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างนิวเคลียสกับเวเลนซ์อิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่ อิสระแข็งแรงขึ้น ส่วนธาตุหมู่ IVA บางธาตุมีโครงสร้างเป็นโครงผลึกร่างตาข่ายจึงทำให้จุดหลอมเหลวและจุดเดือดมี ค่าสูงขึ้น สำหรับธาตุหมู่ VA VIA VIIA และ VIIIA มีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดต่ำและมีค่าใกล้เคียงกัน เนื่องจากแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลของธาตุกลุ่มนี้มีค่าต่ำมาก
เมื่อพิจารณาธาตุตามหมู่ พบว่าจุดหลอมเหลวและจุดเดือดของธาตุหมู่ IA IIA และ IIIA ส่วนใหญ่มีค่าลดลงเมื่อเลขอะตอมเพิ่มขึ้น ส่วนธาตุหมู่ VA VIA VIIA และ VIIIA มีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดเพิ่มขึ้นตามเลขอะตอมซึ่งเป็นผลมาจากการมีมวลอะตอม เพิ่มขึ้น ทำให้แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลมีค่ามากขึ้น สำหรับจุดหลอมเหลวและจุดเดือดของธาตุหมู่ IVA มีแนวโน้มที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากธาตุในหมู่นี้มีโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอมแตกต่างกัน จึงไม่สามารถสรุปเป็นแนวโน้มได้